ตอนทำสไตลิ่ง ผมมักคำนึงถึง 4 ปัจจัยคือสี เท็กซ์เจอร์ ซิลลูเอทและโวลลุ่ม
สีสันจะติดตา ผิวสัมผัสอาจติดมือ โวลลุ่มนั้นชวนให้ติด (และเอะ) ใจ แต่ซิลลูเอทจะติดอยู่ในห้วงความคิด และเมื่อเวลาผ่านไป นั่นยิ่งทำให้ผม ‘คิดถึง’ มันมากกว่าอย่างอื่น
ใช่แล้วครับ แม้จะยังไม่แก่ (สามสิบกลางๆ) แต่ยิ่งอายุมากขึ้น ผมกลับตื่นเต้นกับสีสันน้อยลงทุกที อาจเพราะมัน ‘เห็นชัด’ เกินไป แต่สิ่งที่ทำให้ผมหลงใหลมากกว่าความฉูดฉาดของสีสัน คือความพิศวงของทรวดทรงเสื้อผ้าที่ชวนตั้งคำถามว่า เราเชื่อสายตาตัวเองได้มากแค่ไหน และอะไรกันแน่คือความจริงแท้ของทรวดทรงนั้น
Just right, not too tight
กางเกงขาบานหรือขาม้าคือตัวอย่างที่ชัดเจนของสิ่งนั่นครับ มันคือเครื่องแต่งกายที่ยืนยันว่า เสื้อผ้าที่ดีนั้นต้องฟิตกับคนใส่ (ในความหมายว่าพอดี ไม่ใช่คับ) แต่เสื้อผ้าที่ ‘เหนือระดับ’ นั้นต้องทั้งฟิตและสร้างซิลลูเอทใหม่ให้คนใส่ได้ด้วย
ส่วนจะเรียกว่าขาบานหรือขาม้าหรือขากระดิ่งนั่นขึ้นอยู่กับความบานของปลายขา และขึ้นอยู่กับว่า อ้างอิงจากตำราของใคร บ้างก็ว่า จะเรียกว่าขาม้าก็ต่อเมื่อช่วงลำขาคือตั้งแต่ต้นขา เข่า ลงมาถึงปลายขานั้นต้องมีส่วนที่แคบเข้าและค่อยๆ บานออกที่สุดที่ปลายขา นั่นจึงจะเรียกว่าขาม้าได้เต็มปาก ซึ่งต่างจากกางเกงขากว้างที่อาจ ‘ดูเหมือนบาน’ เพราะการทิ้งตัวของผ้า โวลลุ่มผ้าและองศาการเดิน แต่นั่นเป็นเพียงคำจำกัดความที่ไม่ควรหมกมุ่นจนเกินไป
และอย่างที่บอกไปในบทความที่แล้วครับว่า ผมเกิดปี 1990 นั่นคือช่วงเวลาของซิลลูเอทโอเวอร์ไซส์ กางเกงขาม้าที่เคยรุ่งเรืองสุดขีดในยุคเจ็ดศูนย์จึงเป็นเหมือนประวัติศาสตร์อันห่างไกลแต่ไม่ถูกลืม เพราะด้วยความเป็นคนใต้ ผมจึงเห็นกางเกงขาบานหรือขาม้าในชีวิตจริงอยู่บ่อยครั้งจากเหล่า ‘พี่บ่าว’ คาวบอยร่วมสมัยผู้หายใจเข้าออกเป็นยีนส์
นั่นชวนให้คิดถึง military heritage ของมัน สาวกวินเทจคงเคยเห็นกางเกง USN สีขาวขาบาน ทรงขาที่ทั้งใหญ่และบานออกที่ปลายขาของมันทำให้ทหารเรือ (หรือแม้แต่กะลาสีพลเรือน) ม้วนหรือพับขาขึ้นมาได้สะดวกเมื่อต้องทำกิจกรรมเปียกน้ำ ซึ่งเปียกแน่ และถ้าใครยังไม่หยุดคุ้ยหาของเก่า ต้องเคยเห็นกางเกงทหารเรือเวอร์ชั่นเดนิมที่มาพร้อม 2 กระเป๋าหน้า เข่าลีบและปลายขาบานสุดๆ นั่นคือเวอร์ชั่นที่ต้องตาฮิปปี้ พวกเขาซื้อมันจากร้าน military surplus มันฮิตจนของเริ่มขาดตลาด เหล่าฮิปปี้จึงเอายีนส์ทรงตรงที่มีอย่าง Levi’s 501 หรือ 505 มาเลาะตะเข็บข้าง ยัดผ้า bandana ลายต่างๆ เข้าไป เกิดเป็นยีนส์ขาม้าแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่บาน แต่ยังแฝงเรื่องราวและเอกลักษณ์บุปผาชน
เรื่องพวกนั้นจริงเท็จแค่ไหน ผมไม่การันตีครับ แต่ที่รับรองได้คือ สำหรับผม กางเกงขาม้านั้นมีความหมายพิเศษ มันคือความทรงจำเคล้ากลิ่นพริกแกงใต้ คือความคล้ายจะห่างไกลแต่กลับคุ้นเคยเหมือนรู้จักกันมานาน
Wide & Flare Trousers
จากยีนส์ขาม้าเริ่มลามมาที่สแล็คขาบาน ใครที่ตามช่อง Americano Taste คงเห็นว่าความหลงใหลในกางเกงขาม้า และความพยายามที่จะหาสแล็คขาบานที่ถูกใจแต่ไม่เจอสักที นั่นคือแรงผลักดันให้ผมทำ Dress Trousers ขา flare จากผ้าวินเทจสีดำ แม้ตอนนี้ของจะหมดไปแล้ว แต่การใส่สแล็คตัวนั้นอย่างหนักหน่วงในทุกงาน ตั้งแต่จิบกาแฟ ร่วมงานแต่งยันแบล็กไท มันทำให้ผมรู้จักสุนทรียะใหม่ ทำให้ผมเข้าใจความสัมพันธ์ของโวลลุ่มในแต่ละส่วนของเสื้อผ้าว่า สิ่งที่ทำให้ขากางเกงตัวนั้นดู flare หรือบานออกมาได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความกว้างของปลายขาเพียงอย่างเดียว แต่มันขึ้นอยู่กับความกระชับของเข่า การเล่นกับโวลลุ่มผ้า และการสร้างภาพลวงตาด้วยเช่นกัน ตามทฤษฎีหากคิดกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล ปลายขากางเกงจะดูบานหากความกว้างของเข่าแคบกว่าความกว้างปลายขา แต่ก็มีเหมือนกันครับที่ความกว้างเข่าและปลายขาแทบจะเท่ากันอย่างกางเกงขาตรงทรงกว้าง แต่เมื่อมองมันกลับรู้สึกว่าขากางเกงตัวนั้น ‘ดูบาน’ นั่นชวนให้ตั้งคำถามกับสายตาว่าเชื่อถือได้แค่ไหน เพราะผมรู้อยู่แก่ใจว่าแพทเทิร์นของมันนั้นค้านกับทฤษฎีที่รู้มา


และนั่นคือ ‘ภาพลวงตา’ ที่โวลลุ่มของผ้าในส่วนต่างๆ สร้างขึ้นครับ ช่างสูทที่เข้าใจในอนาโตมีของแจ็กเก็ตเคยกล่าวกับผมว่า ถ้าอยากให้เอวคอด ไม่ใช่แค่คว้านเอวเข้า แต่การเพิ่มหรือลดโวลลุ่มในส่วนอื่นๆ ก็ทำให้เอวดูคอดลงได้เช่นกัน ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง
ความบานของกางเกงขาบานจึงมีตั้งแต่ระฆังคว่ำใบน้อยไปจนถึงระฆังโบสถ์ใบเบิ้ม อยากจะใส่บานแค่ไหนก็สุดแต่ใจจะไขว่คว้า แต่สำหรับผม กางเกงขาบานหรือ Flare Trousers ที่เปี่ยมรสนิยมคือกางเกงที่รู้ว่าควรบานเท่าไหร่ ควรทิ้งโวลลุ่มเท่าไหร่ จึงจะสร้างซิลลูเอทที่พอดีและแนบเนียน
Tangent ทั้ง 2 โมเดลใหม่ที่จำหน่ายที่ The Refinement จึงเข้าข่ายความพอดีที่ว่านั้น มันคือกางเกงขากว้างที่ลวงสายตาว่า flare มาพร้อมผ้าเปี่ยมนวัตกรรมอย่าง cotton like wool นั่นคือผ้าค้อตต้อนที่เด้งและยับยากอย่างผ้าวูลและทรงของมันยังชวนให้คิดถึงความเชื่อมโยงทางทหารของกางเกงขาบานในอดีต
TAN24 Pepe, Italian Ceremony Trousers บันดาลใจจากกางเกงทหารอิตาเลียน ทรงสลิม Dressy เข่ากระชับแบบพอให้รู้สึกแต่ยังขยับง่าย และทิ้งโวลลุ่มผ้าสู่ปลายขาอย่างมีรสนิยม จะเห็นความบานน้อยๆ แบบแอบซ่อนที่มือเก๋าผู้ยึดติดกับกางเกงทรงใหญ่จะใส่ได้อย่างสบายใจ และมือใหม่ก็ใส่ได้ไม่เขิน


TAN25 Pat, British Barrack Trousers บันดาลใจจากกางเกงทหารอังกฤษ เอกลักษณ์ที่หูเข็มขัดใหญ่ และทรงขาที่ใหญ่กว่า TAN24 แต่ยังรักษาโวลลุ่มของความบานไว้อย่างแนบเนียน จะใส่มันกับเชิ้ต madras สู้แดดซัมเมอร์ในเมือง หรือจะใส่มันกับเบลเซอร์กระดุมทองแล้วบินไปจิบพีน่าโคลาด้าที่กระบี่ ภูเก็ตหรือพังงา นั่นก็เปี่ยมสุนทรียะอย่าง French Riviera เมืองไทย


ใครที่ยังไม่เคยใส่ขาบานหรือขาม้า ผมอยากให้เปิดใจ
ใครที่คิดว่าตัวเองไม่มีวันใส่ได้สวย เพราะมีหน้าท้อง ตัวสั้น ขาใหญ่เกินไปและเหตุผลอีกร้อยแปด ผมอยากให้คิดอีกที
ส่วนใครที่เคยใส่แล้วไม่เปรมปรีดิ์ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าขาบานไม่เหมาะกับคุณ แต่มันหมายความว่า คุณยังหากางเกงขาบานที่เข้ากับตัวเองไม่ได้ต่างหาก
ผมเชื่อสุดหัวใจเลยครับว่า คนเราจะใส่อะไรก็ได้ครับ ไม่ใช่แค่ใส่ได้ แต่ใส่แล้วสวยด้วย ถ้าของสิ่งนั้นทำมาดีและเข้ากับ figuration ของคนๆ นั้นจริงๆ
ลองใส่มันเถอะครับ จังหวะที่ปลายขาบานๆ นั้นสะบัด จังหวะที่ผ้ากระชับเข่าและต้นขา จังหวะที่ทุกสายตาที่คุ้นเคยกับคุณจะฉายแววประหลาดใจในแววตา นั่นคือจังหวะที่คุณจะรู้สึกว่า เสื้อผ้าได้มอบซิลลูเอทใหม่ มอบความรู้สึกใหม่ และมอบ ‘คุณคนใหม่’ คนที่คุณอาจไม่เคยคิดว่าจะเป็นได้ให้กับคุณ นั่นคือพลังที่กางเกงขาบานหรือขาม้ามอบให้ผมครับ
และอย่างที่ผมมักพูดเสมอกับคนที่เริ่มลองสิ่งใหม่ คุณอาจรู้สึกไม่แน่ใจในช่วงแรก แต่จงสนุกกับความไม่แน่ใจนั้นครับ เพราะนั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่า คุณคือคนใหม่ ที่กำลังทำสิ่งที่ต่างไปจากเมื่อวาน!
เรื่อง Korakot Unphanit
ภาพ Opal Suwannakeeta