และนี่คือคำสรรเสริญ ยีนส์ จากผมครับ
มันเกิดในเหมือง โตในเมือง
มันหลอมทุกชนชั้นให้เชื่อมกัน จะรวยเงินตราหรือรวยอารมณ์ขันก็ใส่มันได้สวยสง่า (ถ้าเขาเลือกเป็น)
มันภักดีกับทุก body shape (ขอแค่เลือกให้เป็นอีกเช่นกัน)
มันขับเน้น sex appeal โดยไม่ต้องแก้ผ้า สำหรับผม ไม่มีอะไรเซ็กซี่ไปกว่าเส้นโค้งของทรวดทรงที่ถูกยีนส์กระชับขับเน้น เพราะนั่นคือความเซ็กซี่ที่คนใส่ต้องลบอคติต่อรูปร่างออกไป และใส่มันอย่างเชื่อมั่นในความงามของตัวเอง
มันข้ามเส้นแบ่งเพศ มันไม่เคยตัดสินใคร และมันยอมรับในตัวตนของทุกคน (ที่ยอมรับตัวเอง)
มันคือภาษาสากล คาวบอยเท็กซัส โตเกียวซิตี้บอยไปจนถึงเด็กใต้หน้าราม แม้เกิดคนละที่ พูดจาคนละภาษา และมีวิถีชีวิตต่างกันสุดขั้ว แต่หลายนิทรา พวกเขาอาจฝันถึงสิ่งเดียวกันนั่นคือ Levi’s 501 ปีลึก
มันคืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต
สิ่งที่ผมชอบที่สุดในยีนส์คือ มันเหลือพื้นที่ให้ตีความใหม่ได้เสมอ
หาก Levi’s, Lee และ Wrangler คือสามทหารเสือของยีนส์คลาสิกที่เปรียบดั่ง Holy Trinity ของคนรักยีนส์ ในโลกนี้จึงยังมียีนส์อีกนับไม่ถ้วนที่ห้องเสื้อและดีไซน์เนอร์ทุกยุคสมัยพยายามจะ reinvent มัน
นี่คือเครื่องแต่งกายที่ว่ากันว่า Yves Saint Laurent เคยปรารภปนเสียดายว่า ทำไมเขาไม่ใช่คนแรกที่คิดมันได้ (วะ) เพราะกางเกงอินดิโกทรง 5 pocket ที่เราเห็นกันนี้ มันรวมทุก identity ที่เขาอยากให้มีในเสื้อผ้าของตัวเองไว้หมดแล้ว
Calvin Klein ในช่วงนึงพยายามตีความมันใหม่โดยใส่เซนส์ความโมเดิร์นเข้าไปในเส้นสายและทรวดทรง นั่นทำให้ Calvin Klein Jeans คือรายใหญ่ของยีนส์สายแฟชั่นในยุคเจ็ดศูนย์แปดศูนย์
จน Halston ในช่วงเวลาเดียวกัน พยายามจะคิดปฏิวัติยีนส์โดยเปลี่ยนจากผ้าค้อตตอนเป็นผ้าคล้ายกำมะหยี่ ที่แม้จะให้สัมผัสเร้าอารมณ์ แต่นักลงทุนของแบรนด์ถึงกับส่ายหน้าพร้อมเอ็ดว่า ได้เป็นลมตายกันพอดีขืนใส่ยีนส์นี้ไปเต้นดิสโก้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยีนส์กำมะหยี่ตัวนั้นคงพลิกนิยามของความเป็นยีนส์ได้อีกครั้ง หากมันเกิดขึ้นจริง
ห้องเสื้ออย่าง Christian Dior ใส่จริตความกระแดะ (ในแง่ดี) แบบฉบับเมืองน้ำหอมลงไปในทรวดทรงและ stitching เกิดเป็น Christian Dior Monsieur Jeans ที่ผมเองพยายามตามหาตัวต้นฉบับจากยุค 1980s แต่ยังหาไม่พบ
Helmut Lang พลิกโฉมยีนส์สายแฟชั่นอีกครั้งในยุคเก้าศูนย์ เมื่อเขาเอา stitching ที่กระเป๋าหลังออก ลดทอนทุกตะเข็บที่รกสายตา ปรับทรวดทรงให้เรียบง่ายที่สุด เกิดเป็นยีนส์มินิมอลที่บันดาลใจยีนส์ใน school ฝรั่งเศสยุคต่อมาอย่าง A.P.C. ไปจนถึง Dior Homme ยุค Hedi Slimane


ขอข้ามฟากมาฝั่งญี่ปุ่นกันบ้าง
ยีนส์ เพลงแจ็ส และไอวี่สไตล์ถือเป็นหนึ่งในหลักฐานที่บ่งชี้ว่า คนญี่ปุ่นคลั่งไคล้วัฒนธรรมอเมริกันมากแค่ไหน และมันสะท้อนอุปนิสัยของคนญี่ปุ่นที่หากหลงใหลในสิ่งใด เขาะจะทำมันในวิธีของตัวเอง พัฒนาจนแซงหน้าประเทศต้นฉบับ และทำให้สิ่งนั้นกลายร่างใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับแจ๊สญี่ปุ่น ไอวี่ญี่ปุ่น และยีนส์ญี่ปุ่น


คนญี่ปุ่นเริ่มรู้จักยีนส์จากทหารอเมริกันที่เข้ามาประจำการที่ญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ว่ากันว่า ในยุคนั้น ถ้าจะหายีนส์สักตัว ต้องดั้นด้นไปคุ้ยที่ตลาดมืด หรือตลาดที่ใกล้ฐานทัพ ชื่อหนึ่งที่ได้ยินบ่อยคือ ตลาดอาเมะโยโกะแห่งอุเอโนะที่นักเที่ยวรู้จักกันดี แน่นอน ยีนส์ที่เข้ามาคือไซส์ฝรั่ง วัยรุ่นญี่ปุ่นก็ใส่มันทั้งอย่างนั้น (จะให้ทำไงก็ใจมันรัก) และอย่างที่คาดเดากันได้ ญี่ปุ่นเริ่มศึกษายีนส์และพยายามทำให้เหมือน ยีนส์อเมริกันต้นฉบับทอด้วยเครื่องจักรอะไร พวกเขาจะไปหาเครื่องจักรนั้น ใช้หมุดและเส้นด้ายแบบไหน พวกเขาจะไปหามัน มันย้อมครามยังไง พวกเขาจะทำให้ดีกว่า และที่เหลือ คือหน้าประวัติศาสตร์อย่างที่เราเห็นกัน
Big John คือชื่อที่ผมเห็นผ่านตาบ่อยครั้งเมื่อเปิดนิตยสารแฟชั่นในตำนานอย่าง Men’s Club ช่วงยุค 1970s-1980s
ตามมาด้วยชื่อที่คุ้นหูคอยีนส์อย่าง ‘The Osaka 5’ หรือห้าทหารเสือแห่งโอซาก้า (ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์ Studio D’Artisan, Denime, Evisu, Fullcount และ Warehouse) นี่คือกลุ่มที่อาจเรียกได้ว่า เป็นผู้วางรากฐานยีนส์ญี่ปุ่นยุคใหม่ และสร้างแลนด์มาร์กไว้บนแผนที่โลกมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคแปดศูนย์ ยีนส์เหล่านั้นขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพการตัดเย็บ การย้อม การเคารพจิตวิญญาณของยีนส์แบบดั้งเดิม และการต่อยอดยีนส์สู่เส้นทางใหม่ และปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า มันแผ้วถางทางเดินให้กับยีนส์ญี่ปุ่นในรุ่นต่อมา
ยีนส์ 2 แบรนด์ที่มาแนะนำในวันนี้ก็เจริญรอยตามเส้นทางนั้น
Ark ยีนส์ใหม่ที่บันดาลใจจากยีนส์แบบดั้งเดิมในยุค 1950s ทางทีม Ark นำยีนส์และชีโน่ deadstock จากยุคห้าศูนย์ มาแยกชิ้นส่วน วิเคราะห์แพทเทิร์นจากตรงนั้น ทอผ้า เลือกอะไหล่และตัดเย็บมันโดยใช้กรรมวิธีดั้งเดิมให้ใกล้เคียงกับคุณภาพและมาตรฐานในยุค 1950s ให้มากที่สุด
ใส่มันกับ South Korean High Military School Uniform หรือแจ็กเก็ต รด. เกาหลีใต้ที่นักเรียนเกาหลีใต้ในยุค 1970s-1980s ใส่มันเพื่อเรียนวิชาทหาร อย่างที่สหายใน Reply 1988 ใส่ให้เราเห็น


HANDROOM Exclusive for Refinement ยีนส์เอวสูงที่ทาง The Refinement นำเข้ามา 2 โมเดลคือ Regular Fit ยีนส์ขากระบอกเล็กสุดคลาสสิกอย่างที่เราๆ คุ้นกัน กับ Wide Fit ซึ่งเป็นฟิตติ้งที่ Hirofumi Kurino แห่ง District UNITED ARROWS พัฒนาร่วมกับทาง Handroom ทรงมันกว้างสมชื่อ Wide Fit แต่เป็นความกว้างที่อยู่กึ่งกลางความพอดีระหว่าง Regular กับ Baggy รับกับรองเท้าหลากทรงตั้งแต่โลเฟอร์ สลิปเปอร์ ยันสนีกเกอร์
หยิบสี mid washed แล้วใส่กับแจ็กเก็ต Gunclub Check ในวันหยุด
อยากใส่ยีนส์สีเดียวกันนี้ไปทำงาน? ย่อมได้! ด้วยเทคนิค tone on tone แค่เปลี่ยนท่อนบนจากเสื้อยืดดำเป็นเชิ้ตอินดิโก ผูกไทผ้าไหมโทนสีใกล้กัน แล้วใส่มันไปทำงาน มันคาบเส้นระหว่างแคชวลกับฟอร์มอล สีมันธรรมดา แต่เห็นแล้วรู้เลยว่าคนทำต้องใจกล้าพอตัว พับแขนเชิ้ตแล้วเดินไปซื้อกาแฟช่วงพักกลางวัน สวมเบลเซอร์ทับมัน (นั่นก็ tone on tone อีกหนึ่งชั้น) แล้วเข้าประชุมกับลูกค้า และหากคุณปิดดีลได้ ก็ใส่ชุดเดียวกันนั้นแหละไปดื่มฉลอง แต่ถ้าดีลล่ม นั่นก็คือเหตุผลให้ดื่มสักแก้วสองแก้วเช่นกัน
ผมเคยถามตัวเองว่า มีไอเท็มชิ้นไหนไหมที่ใส่แล้วดูสไตลิชทันที แต่ให้คนนั้นไม่เคยแต่งตัวมาก่อนในชีวิต ผมตอบมันทีว่า มี…นั่นคือยีนส์ขาว ใส่มันกับอะไรก็ได้แม้แต่กับเสื้อขาว ในสายตาคนไม่เข้าใจ เขาอาจทักว่าคุณว่าไปทำบุญที่ไหนมา แต่ในสายตาของคนที่มองภาพกว้างกว่านั้น โปโลขาวกับยีนส์ขาวคือความผ่อนคลายและสไตลิชแบบไม่ต้องพยายาม ซึ่งไปได้ทั้งคอร์ดเทนนิส กินคลับแซนวิสริมสระ จิบเบียร์ที่บาร์ริมหาด ไปจนถึงไปทำบุญจริงๆ
สิ่งที่ผมอยากทิ้งท้ายไว้คือ ทุกคนมียีนส์ที่เข้ากับตัวเองครับ แค่หามันให้เจอ
เมื่อเจอแล้ว ใช้มันจนถึงวันสุดท้าย เพราะยีนส์ทำมาเพื่อการนั้น
คุณต้องใส่มัน เฆี่ยนมัน ใช้ชีวิตไปกับมัน และอย่ากลัวที่จะซักมันเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เพราะนั่นคือวิธียืดอายุยีนส์ที่ดีที่สุด
สีมันจะอ่อนลง…ใช่
ผ้าจะนิ่มขึ้น… ใช่ และหลายครั้งถึงขั้นขาดวิ่น
แต่ความทรงจำที่ฝากชีวิตไว้กับมันจะจางไปกับพร้อมกับการผุพังนั้นด้วยไหม?
ไม่แน่นอน!
เรื่อง Korakot Unphanit
ภาพ Opal Suwannakeeta