เรื่อง : Korakot Unphanit
ภาพ : Shinya Matsunaga
ขอสารภาพว่าผมเพิ่งมี Tassel Loafers (ที่ proper) คู่แรกในชีวิตเมื่อไม่นานมานี้เองครับ
เจาะจงกว่านั้น มันคือ Berwick for The Refinement Tassel Loafers หนังวัวสีดำเกลี้ยง เนื้อเงาวับ เป็นรองเท้าโลเฟอร์ที่แค่เห็นด้วยตาก็รู้ว่านิ่ม แต่แข็งแรง
ใครที่ตาม Americano Taste มาคงพอจะทราบรสนิยมการแต่งตัวของผมอยู่บ้าง
I prefer structure
หนึ่งคือ ผมรัก Structure ครับ แฟนสูทนาโปลีคงส่ายหน้า เพราะผมรักทุกอย่างที่ตรงข้ามกับมัน (และอย่าเพิ่งเข้าใจผมผิด ผมไม่ได้เกลียดคัตติ้งแบบอิตาเลียนตอนใต้หรือสูทแบบไร้โครงสร้าง แค่จะสื่อว่า ผมชอบคัตติ้งที่มีโครงสร้างมากกว่า) ผมไม่ปฏิเสธ shoulder pad ผมชอบที่จะเห็นไหล่ตัวเองเชิดขึ้นแบบ pagoda shoulder ผมชอบ sleeve head ที่เป็น rope ตั้งขึ้นมาอย่างจงใจ (จะแอบซ่อนไปทำไมครับ) ผมชอบที่จะเห็นหุ่นตัวเองถูกหล่อขึ้นมาใหม่ ยิ่งไกลจากฟิกเกอร์ที่เป็นอยู่ได้ ยิ่งดี
นั่นคือเหตุผลที่ผมรัก tailoring และหาก cutter หรือ tailor คนนั้นทำงานโดยระลึกอยู่ในใจว่าพวกเขาคือประติมากร ไม่ใช่แค่ช่างเย็บผ้า นั่นคือห้องเสื้อที่ผมจะไปหาทันที
I prefer comfort
สอง ผมชอบความสบาย
ว่าแต่…ใครไม่ชอบมันบ้างครับ?
เพราะก่อนอื่นเลย ต้องใส่สบายก่อนครับ สไตล์จึงจะเกิด
รสนิยมข้อนี้อาจจะขัดแย้งกับข้อแรกที่ผมบอกว่า ผมรัก structure แต่ใครมากำหนดกันครับว่า structure จะต้องมาพร้อมกับความไม่สบายตัว หรือสูท (และรองเท้า) ที่มีโครงสร้างจะใส่สบายน้อยกว่าแบบ unstructured
ผมไม่ขัดครับถ้าคุณจะเชื่อเช่นนั้น ตราบใดที่คุณแน่ใจว่า ความเชื่อของคุณนั้นไม่ได้มาจากการฟังเขามา (ซึ่งเขาก็อ่านมาจากในอินเตอร์เน็ตอีกที) แต่มาจากการพิสูจน์ด้วยตัวคุณเอง
I prefer black
และสาม ผมชอบสีดำ
เรียกว่ารักเลยดีกว่า
แจ็กเก็ตดำ ไม่ได้สงวนไว้แค่กับงานศพ แต่เป็นแจ็กเก็ตที่ ‘วัดกึ๋น’ คนใส่
รองเท้าดำ ไม่ได้สงวนไว้แค่กับงานทางการ แต่คุณใส่มันได้กับทุกอย่าง ถ้าคุณ ‘ทำเป็น’
มันคือสีที่เรียบง่าย แต่ท้าทาย และวัดความเข้าใจของคนที่ใช้มัน
รองเท้าคู่นี้มีทุกอย่างที่ต้องตามรสนิยมของผม
ดำ มีโครงสร้างแต่ใส่สบาย
ผมชอบความ nonchalant ของสลิปเปอร์พื้นบางๆ ที่นิ่มเหมือนใส่ถุงเท้าเดิน แต่ก็รักโครงสร้างแข็งและพื้นที่แข็งแกร่งของความเป็นโลเฟอร์เช่นกัน คู่นี้คือส่วนผสมนั้น ภายในรองเท้าคือโครงสร้างแบบซับในบางๆ แค่ครึ่งตัว อีกครึ่งคือหนัง upper แบบไร้หนังซับใน ความรู้สึกจากการใส่อย่างหนักหน่วงในทุกสถานการณ์ทำให้ผมรู้สึกว่า เพราะโครงสร้างที่ friendly กับเท้าแบบนี้ ทำให้การ break-in สั้นลงมาก
The reason why I chose tassel loafers instead of penny loafers is…
ส่วนเหตุผลว่าทำไม ครั้งนี้จึงเลือก tassel แทนที่จะเลือกเป็น penny อย่างที่เคยเลือก
ผมตอบได้เลยว่า ไม่มีเหตุผลครับ ก็แค่ love at first sight และอยากทดลองสิ่งใหม่ ก็เท่านั้น
ท่ามกลางรองเท้าที่ผมมี คู่นี้อยู่ใน range ราคาที่พูดได้เต็มปากว่า value for money คุ้มราคาเมื่อเทียบกับคุณภาพระดับนี้ และพูดได้อย่างภูมิใจเลยว่า นี่คือรองเท้าที่ไม่เป็นสองรองใคร
มันชวนให้ผมคิดครับว่า สุดท้ายแล้ว รองเท้าที่ดีนั้น อาจไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติที่กูรูรองเท้าให้คุณค่าเสียทั้งหมด แต่มันคือรองเท้าที่ผม (และคุณ) หยิบมาใส่บ่อยๆ และมี ‘อารมณ์ร่วม’ ไปกับมัน และทุกคนล้วนมีคู่นั้นอยู่กับตัวครับ
Emotional signs of good shoes
มันคือรองเท้าที่ระหว่างกำลังตัดสินใจว่าจะใส่คู่ไหนดี รู้ตัวอีกที เท้าคุณก็เข้าไปอยู่ในมันเรียบร้อยแล้ว
มันคือรองเท้าที่คุณจะหย่อนเท้าเปล่าเปื้อนฝุ่นลงไปโดยไม่ลังเล
มันคือเพื่อนตายในวันฝนตก
มันคือคู่ที่พยุงตัวคุณไว้ในวันที่โดนปฏิเสธงาน หรือโดนปฏิเสธรัก
มันคือคู่ที่คุณจะใส่มันขึ้นดาดฟ้าคอนโดทุกเช้า เพราะคุณรู้ดีว่า แม้จะอยู่ในชุดเสื้อยืดเก่าๆ กางเกงกีฬาขาสั้นยางย้วย กับหน้าที่ยังเปื้อนขี้ตาแบบไม่เต็มตื่น และในมือถือกาแฟชงใหม่ แต่ผู้พบเห็นจะให้อภัยเพราะโลเฟอร์ (หรือรองเท้า) คู่นั้นทำให้เขาเชื่อว่าคุณตั้งใจ dress up แบบนี้ (ทั้งที่คุณไม่ได้คิดมา)
มันคือคู่ที่คุณเลือกใส่ไปประชุม ก่อนจะถกแขนเสื้อ ปลดเน็กไท ใส่คู่เดียวกันนั้นเข้าคลับ และกลับออกมาพร้อมรอยเท้าจากใครบางคนที่เหยียบย่ำไปทั่วทั้ง upper และหัวใจ แต่คุณก็ไม่แคร์
นั่นน่าจะมากพอแล้วครับสำหรับนิยามเชิงความรู้สึกที่ผมมีต่อ ‘รองเท้าที่ดี’
ก่อนจากกันไป สำหรับใครที่กำลังหาบัดดี้คู่ใหม่ Berwick for The Refinement ทั้ง Tassel, Penny, Derby ไปจนถึง Monk Strap มันคือบัดดี้ที่ value for money ทั้งสำหรับผู้เริ่มต้นและมือเก๋าที่อยากได้รองเท้าสำหรับวันลุยๆ มันคือคู่ที่ทำให้ผมรู้สึกถึงรองเท้าที่ดี คือคู่ที่เป็นต้นธารแห่งแรงบันดาลใจให้ผมเขียนบทความนี้ เชื่อแน่ว่ามันจะทำให้คุณรู้สึกเช่นกัน และแน่นอนว่ามันต่างจาก Berwick โดยทั่วไป ส่วนจะต่างยังไง นั่นเป็นหน้าที่คุณที่ต้องมาลองเองครับ
แต่สำหรับใครที่ต้องการความท้าทายขั้นกว่า (และเงินครึ่งแสนไม่ใช่ปัญหาสำหรับคุณ) Saint Crispin’s รองเท้าชื่อนักบุญที่ขึ้นชื่อเรื่องฟิตติ้งที่ฟิต ผมเรียนรู้ว่า “คนส่วนใหญ่ใส่รองเท้าที่ใหญ่กว่าเท้าตัวเองมาโดยตลอด” ก็ตอนที่ได้เทรนกับ Philip Car เจ้าของ Saint Crispin’s ตอนที่ทางแบรนด์มาทำทรังค์โชวในประเทศไทยเมื่อหลายปีที่แล้วนั่นแหละครับ (ตอนนั้นผมเป็น shop guy ที่ร้านแห่งหนึ่ง) นับจากวันนั้น แบรนด์นี้ก็เปลี่ยน perception ที่ผมรู้สึกต่อฟิตติ้งของรองเท้าหนังไปตลอดกาล และมันจะทำให้คุณ ‘เข้าใจ’ ฟิตติ้งของรองเท้าหนังไปอีกระดับเลย นอกจากฟิตติ้งที่ฟิตระดับ Bespoke shoes แล้ว Saint Crispin’s ยังมาพร้อมทรงสุดโฉบเฉี่ยวและการ custom ในระดับที่ละเอียดมากในทุกดีเทล ที่คุณจะหาไม่ได้ง่ายๆ จากที่ไหน
John Lobb อีกชื่อที่คนรักรองเท้าต้องรู้จัก กับงานศิลป์สุดวิจิตรที่ประดับเท้าตั้งแต่กษัตริย์ ดาวค้างฟ้า และสามัญชน ไปจนถึงอีกหลายแบรนด์อย่าง Oriental Shoesmaker, George Cleverley, ไปจนถึง Edward Green ที่พร้อมตอบรับทุกงบประมาณและความต้องการของคุณ
สุดท้าย ไม่ว่าคู่นั้นของคุณจะเป็นอะไร
ที่ทางของรองเท้า คือพื้นโลกครับ ไม่ใช่ในตู้
จงใส่มันอย่างภูมิใจ ไม่กลัวพัง ไม่ลังเล
เพราะนั่นคือวิธีบอกรักที่ชัดที่สุดแล้วครับ ที่คุณจะมอบให้กับสิ่งของได้