เรื่อง : Korakot Unphanit
ภาพ : Opal Suwannakeeta
หากคำนึงถึงความกลมกล่อมในภาพใหญ่ สำหรับผม เชิ้ตที่แมตช์สียากที่สุดคือเชิ้ตขาว
ส่วนเชิ้ตที่แมตช์สีง่ายที่สุด ก็คือเชิ้ตขาวเช่นกัน
และหลายครั้ง มันคือเชิ้ตขาวตัวเดียวกัน
The brightest, the strongest
มันฟังดูขัดแย้งกับความรู้สึกใช่ไหมครับ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งหัดแต่งตัวใหม่ๆ หรือแม้แต่กับมือเก๋าที่ยังยึดติดสนิทใจเพราะไม่เคยทดลองใส่เชิ้ตสีอื่น
ผมตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ก็ตอนที่เป็นช็อปกายแล้วต้องแมตช์ลุคให้เข้ากับแจ็กเก็ตและสูทที่เพิ่งมาใหม่ในสต็อก เพื่อถ่ายรูปโปรโมต ไอ้ลุคที่แมตช์แจ็กเก็ตกับโปโลหรือเสื้อยืดน่ะ ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าพูดถึงการแมตช์เชิ้ตให้เข้ากับเน็กไท แจ็กเก็ต และพ็อกเก็ตสแควร์ (ซึ่งโดยส่วนตัว ผมไม่ใส่) แล้วเนี่ย สีขาวคือสีที่ทำผมประหลาดใจในความ ‘เหมือนจะง่าย’ ของมันได้มากที่สุด เพราะไม่ว่าผมจะเอามันไปชนกับอะไร ความไร้สีและความว่างเปล่าแบบไม่มี pattern นั้นกลับกลายเป็นสีและ pattern ที่ strong ที่สุด มันตัดเส้นขอบและสร้างขอบเขตกับทุกสีที่อยู่ใกล้ ยิ่งชนกับไอเท็มที่มีสีและแพทเทิร์นจัดจ้าน ผมยิ่งเห็นความ contrast นั้นชัดเจน
Candies could be more friendly
สถานะของเสื้อเชิ้ตในบริบทนั้นจึงไม่ใช่แค่เสื้อตัวใน แต่มันคือ background ที่ต้องประสานกับทุกองค์ประกอบ ลุคในภาพรวมจะออกมากลมกลืนหรือขัดแย้ง เสื้อเชิ้ตคือไอเท็มที่กำหนดอารมณ์ตรงนี้มาก
ในวันนั้นผมจึงพบความย้อนแย้งว่าเชิ้ตสีและ candy stripe นั้นใส่ง่ายและแมตช์สีได้เฟรนลี่กว่าเชิ้ตขาว เพราะสีสันและลวดลายของมัน เมื่อชนกับสีสันหรือลายอื่น จะไม่สร้างความรู้สึกของการตัดกันที่ชัดเจนอย่างเชิ้ตขาว พูดง่ายๆ คือสีและลายของมันจะเข้ากับสีและลายอื่นไปเอง (ไม่เชื่อ ก็ลองดู)


คนที่เข้าใจความจริงข้อนี้ดีคือ Duke of Windsor แม้ว่าผมจะไม่ปลื้มชีวิตส่วนตัวของเขาเท่าไหร่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำสไตลิ่งแบบลายชนลายของเขานั้นไร้เทียมทาน แต่ละชิ้นดูเป็นไอเท็มที่ ‘เสียงดัง’ ในตัวมันเอง แต่เมื่อเขาแมตช์รวมกัน มันกลับ ‘ประสานเสียง’ ไปด้วยกันได้อย่างกลมกล่อม (แน่นอนว่า กว่าจะทำได้แบบนั้น ต้องผ่านการฝึกฝนและขัดเกลาเซนส์ในการผสมสีมาไม่น้อยเลย)
How I style Hitoyoshi for Refinement
White Spread Collar Shirt
เชิ้ตขาวคลาสสิกที่ขึ้นชื่อว่าใส่กับอะไรก็ได้ แต่ในความง่ายของมันนั้น กลับแฝงโจทย์สำคัญนั่นคือ ทำยังไงให้มันไม่กลายเป็นแบ็กกราวด์ที่ทำให้เน็กไทลอยเด่นแบบเห็นมาตั้งแต่ห้าร้อยเมตร ‘การรักษาความสมดุลในความกลมกลืน’ จึงเป็นหัวใจสำคัญของลุคนี้
เชิ้ตขาว Hitoyoshi for Refinement มาพร้อมปก spead collar กางในองศาที่จะผูกไทแบบ Four in hand ก็เข้าท่า หรือจะ Windsor ก็ดูสมดุลกับปกที่กางอย่างพอดี ใส่กับไทสี off white ลายดอกที่ตัดกันอย่าง subtle กับเชิ้ตขาว และในเวลาเดียวกัน มันก็สร้างความกลมกลืนกับ Refinement Tailoring RFMT-01 Herringbone Jacket สีแซลมอน จาก plain ชนลายดอก ชนลายกางปลา เมื่อบริหารความขัดแย้งอย่างเหมาะสม ทำให้ลุคนี้โดยรวมไม่แบน สุขุม และสนุกได้ในเวลาเดียวกัน
OCBD Stripe Shirt


หัวใจของการสไตลิ่งแบบลายชนลายคือการจัดบาลานซ์ของภาพรวม Hitoyoshi for Refinement ปก Button-down ลายสไตร์ปเส้นเล็กสีน้ำตาลแดง ใส่ชนกับแจ็กเก็ต Refinement Tailoring RFMT-01 ลาย Houndstooth สเกลเล็กในโทนสีใกล้กัน
กุญแจสำคัญที่ช่วยบาลานซ์ลุคนี้ในภาพรวมคือไทผ้าไหมที่แม้จะเป็นไหมแต่มี finishing คล้ายวูล ให้อารมณ์ Country เข้ากันดีกับเท็กซ์เจอร์และลายของแจ็กเก็ต สีเน็กไทคือกรมท่ามาพร้อมลายดอกในสเกลที่ห่างกัน เสมือนเป็นแพทเทิร์นที่ใหญ่ที่สุดท่ามกลางแพทเทิร์นในสเกลเล็กของทั้ง stripe และ Houndstooth สเกลและสีที่ต่างออกไปของของเน็กไทนี้ช่วยสร้างจุดโฟกัสให้กับลุค เป็นจุดโฟกัสที่สร้างความกลมกล่อม ไม่เรียกความสนใจ และทำให้ภาพรวมกลายเป็นภาพที่ไม่เบลอ
Candy Stripe Shirt


สมัยเริ่มหัดเป็นช็อปกายใหม่ๆ ผมเคยเข้าใจว่า การสร้างความกลมกลืนในภาพรวม คือการทำสไตลิ่งแบบคุมโทน นั่นไม่ผิดครับ แต่ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะจริงๆ แล้ว เราสามารถใช้สี (และแพทเทิร์น) ที่ต่างกันมาชนกัน และสร้างความกลมกล่อมจากมันได้ หัวใจสำคัญจึงเป็นการไม่ยึดติดกับชาร์ตสี หัดมองภาพรวมให้เป็น และกล้าเสี่ยงไปกับมัน
Hitoyoshi for Refinement Candy Stripe สีเขียวเป็นเชิ้ตที่ใส่เดี่ยวๆ แล้ว ‘เอาอยู่’ ได้ด้วยตัวมันเอง แต่มันก็พิสูจน์ตัวเองได้ชัดเจนเช่นกันว่า ต่อให้เป็น ‘ตัว support’ ก็เสริมความกลมกล่อมของทั้งลุคได้ดีไม่แพ้ตอนทำหน้าที่เป็นตัวเอก ใส่มันกับไทสีแชมเปญเท็กซ์เจอร์หยาบแบบ silk ดิบ ทับด้วยแจ็กเก็ต Refinement Tailoring RFMT-01 ลาย glencheck ที่ลดรูปเหลือแค่แถบสีโทนน้ำเงินอมเขียวและเส้นสีทอง จะเห็นว่าท่ามกลางความโกลาหลของเท็กซ์เจอร์และสีสัน เมื่อมองมันจะเห็นความสบายตา มีมิติ และความกลมกล่อมในภาพใหญ่
Enhance your outfit to be an art form
ก่อนจากกันไป เดี๋ยวจะหาว่าให้ร้ายเชิ้ตขาว จริงๆ แล้ว เชิ้ตขาวยังเป็นสีโปรดของผมในทุกวาระนะครับ มันสุขุม สงบนิ่งเหมือนบรรทัดห้าเส้นที่รอให้คีตกวีเติมตัวโน้ต ในประวัติศาสตร์ดนตรีก็ยังเคยมีคนแต่งเพลงที่ไร้ตัวโน้ต บรรเลงด้วยความเงียบงัน แต่กลับกลายเป็นเพลงที่ดังที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีศตวรรษที่ยี่สิบ และเพลงนั้นบันดาลใจจากภาพเขียนที่มีเพียงสีขาวบนผืนผ้าใบ


ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเชิ้ตขาวที่ (เหมือนจะ) ง่าย หรือภายใต้ลายหรือสีของ pattern shirt ที่ดูจะเข้ากับใครได้ยาก จึงใส่ไม่ยากเลยครับ ขอแค่คุณรู้ว่าตัวเองต้องการจะสื่อสารอะไร เข้าใจการผสมสีเพื่อตอบโจทย์ในการสร้าง mood ที่ต้องการในวันนั้น กล้าทดลอง อิมโพรไวส์และลองเชื่อในสัญชาตญาณตัวเองบ้าง (แม้บางครั้งจะไม่น่าเชื่อก็ตาม) ต้องหัดมองภาพใหญ่ให้เป็น
และที่สำคัญ ลองมองการแต่งตัวเป็น art form ครับ ไม่ใช่แค่ outfit
ในเมื่อคุณต้องแต่งตัวอยู่แล้วหลังอาบน้ำทุกวัน ทำไมไม่ลองทำมันให้ประณีตขึ้นล่ะครับ?