Blazer, always. เบลเซอร์ ชิ้นแรกและตลอดไป

ผมเหลือพื้นที่ในหัวใจให้เบลเซอร์เสมอ

ด้วยความที่ผมทำสิ่งนี้เป็นอาชีพครับ ความหลงใหล (เข้าขั้นหมกมุ่น) ในศาสตร์แห่งสูทนั้นบังคับให้ผมต้องลองสวมแจ็กเก็ตจากหลากยุคสมัย ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่แจ็กเก็ตปกแปลกๆ อย่าง Nehru Jacket จากการตีความของ Pierre Cardin ในยุคหกศูนย์ แจ็กเก็ตปกปกติแต่ทำจากวัสดุสังเคราะห์แปลกๆ แต่เป็นตำนานอย่าง Ultrasuede Jacket จาก Halston แห่งนิวยอร์กยุคเจ็ดศูนย์ สูทไร้โครงสร้างที่ปฏิวัตินิยามของความทางการในยุคแปดศูนย์ ไปจนถึงแจ็กเก็ต collarless เสริมไหล่บุฟองน้ำที่สตรีในยุคเก้าศูนย์ใส่ไปทำงานออฟฟิศ 

แม้จะชอบลองสูททรงแปลกๆ พวกนั้น แต่เบลเซอร์ยังชนะใจผมเสมอ 

Blazer

มันคือนิยามของความเป็น ‘ตัวจริง’

เพราะตัวจริง อยู่ได้ทุกยุค

ไม่ว่าแฟชั่นจะเปลี่ยนไปแค่ไหน จะผ่านยุคจำกัดผ้าช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านยุคสูทปกเล็กขวัญใจซับคัลเจอร์ในยุคหกศูนย์ ผ่านยุคโพลีเอสเตอร์และคัตติ้งอลังการในยุคเจ็ดศูนย์ ผ่านยุค power suit ทรงใหญ่ในยุคแปดศูนย์ ไปจนถึงสูทมินิมอลช่วงปลายยุคเก้าศูนย์ ก่อนจะข้ามวิกฤติ Y2K เข้าสู่สหัสวรรษใหม่ เบลเซอร์ก็ยังคงอยู่ตรงนั้น 

ตรงพื้นที่ที่ความเป็นทางการและความลำลองประนีประนอมต่อกัน

ตรงพื้นที่ที่ส่งให้เด็กผู้ชายกลายเป็นผู้ใหญ่ (อย่างน้อยก็ช่วยสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้เป็นอย่างนั้น)

ตรงพื้นที่ที่ความคลาสสิกปรับตัวเข้ากับสมัยนิยม

มันคือของขวัญจากโลกเก่า

Once also uniforms

ในความเข้าใจของผม เมื่อพูดถึงเบลเซอร์ ผมจะนึกถึงประวัติศาสตร์การเดินเรือทั้งพลเรือนและทหาร การสังกัดองค์กรหรือกลุ่มแก๊ง และระดับความเป็นทางการที่อยู่ระหว่างแจ็กเก็ตและสูท

นั่นหมายความว่าเบลเซอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นสีกรมท่าก็ได้ครับ จริงอยู่ที่คลาสสิกเบลเซอร์ที่ผมนึกออกเป็นภาพแรกๆ คือแจ็กเก็ตกระดุมสองแถวสีกรมท่ากับกระดุมโลหะ มันสะท้อนจุดกำเนิดของมันที่ว่ากันว่า ในปี 1837 ทหารเรือบนเรือรบ HMS Blazer เลือกใส่ reefer jacket (พูดง่ายๆ มันคือแจ็กเก็ตกระดุมสองแถวในสมัยก่อน) สีกรมท่าติดกระดุมโลหะประทับตรา royal navy เพื่อรับเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย นั่นเป็นตำนานที่เล่าขานต่อๆ กันมา ส่วนจะจริงเท็จแค่ไหน ผมไม่รู้

แต่มีอีกหนึ่งตำนานจากฝั่งพลเรือนที่สะท้อนชัดว่าครั้งหนึ่งเบลเซอร์เป็นสีแดง และเพราะมันแดงและ blaze ขนาดนี้เลยเป็นที่มาของชื่อ ย้อนไปในปี 1825 นักเรียนในชมรมพายเรือ The Lady Margaret Boat Club แห่ง St. Johns College, Cambridge เลือกใส่แจ็กเก็ตผ้าสักหลาดสีแดงเพื่อให้เห็นทีมของพวกเขาได้ในระยะไกล กลายเป็นที่มาของชุดประจำทีม และหลายมหาลัยเริ่มเอาแนวคิดนี้ไปใช้ นั่นคือจุดกำเนิดของ Rowing Blazer ที่บ้างก็ใช้ผ้าสีสดใส บ้างก็ใช้ผ้า stripe ในแถบสีประจำมหาวิทยาลัยมาทำแจ็กเก็ตแบบนี้ 

ไม่ว่าที่มานั้นจะมาจากฝั่งทหารหรือพลเรือน แต่มันเชื่อมโยงกับการเดินเรือทั้งคู่ครับ

DSC04433

และเพราะมันเกิดจากการเป็น ‘เครื่องแบบองค์กร’ (ทั้งหน่วยงานทหารเรือและชมรมพายเรือ) เบลเซอร์จึงเป็นแจ็กเก็ตที่สะท้อนว่าคนใส่สังกัดหน่วยงานไหน ชัดเจนพอๆ กับการผูกไทในอดีตที่อาจบอกได้เลยว่าคุณทำงานที่ไหน หรือเคยจบสถาบันไหนมา ในกรณีของเบลเซอร์ มันมักสะท้อนผ่านสีของเนื้อผ้า การประทับตราบนประดุม ไปจนถึงการปักตราองค์กรบริเวณกระเป๋าหน้าอก 

สำหรับผม นี่จึงเป็นแจ็กเก็ตที่พ่วงสถานะพิเศษไว้ครับ เพราะ (ครั้งหนึ่ง) มันเคยเป็นเครื่องแบบองค์กร นั่นทำให้ความเป็นทางการของมันมากกว่าแจ็กเก็ตโดยทั่วไป ส่งผลให้ความรู้สึกที่ผมมีต่อแจ็กเก็ตที่ทำมาในรูปแบบเบลเซอร์ที่แม้จะไม่ประทับตราองค์กรไว้บนเสื้อแล้วก็ตาม แต่ผมจะรู้สึกถึงความขึงขัง จริงจัง และทางการมากกว่าแจ็กเก็ตทั่วไป ส่วนจะทางการแค่ไหน นั่นขึ้นอยู่กับการทำสไตลิ่งของคนใส่ครับ

When feelings can be transmitted

ตัวอย่างที่ผมมักจะยกขึ้นมาเสมอ เพื่อชี้ให้เห็นความต่างระหว่างเบลเซอร์กรมท่า แจ็กเก็ตกรมท่า และสูทกรมท่า คือกระดุมครับ สำหรับผม navy suit จะใช้กระดุมในสีที่กลมกลืนไปกับผ้า, navy jacket ใช้กระดุมที่สีตัดกับผ้า แต่ subtle กว่ากระดุมที่ใช้กับเบลเซอร์ เช่น กระดุมเขาสัตว์สีน้ำตาล ส่วน blazer มักใช้กระดุมโลหะสีทอง เงิน หรือดำอย่างที่ King Charles III ในวัยหนุ่มเคยใส่ และบนกระดุมมักประทับตราที่สะท้อนถึงมรดกการเดินเรือ เช่น สมอเรือ หรือไม่ก็ตราองค์กร หรือไม่ก็ลวดลายอะไรก็ได้ (ผมยังเคยเลือกกระดุมสีทองสลักลวดลาย glencheck มาติดในเบลเซอร์ของตัวเองเลยครับ) หรือถ้าคุณเกรงว่ามันจะ ‘เยอะ’ เกินไป จะเลือกเป็นกระดุมโลหะเนื้อเกลี้ยง หรือจะดุม mother of pearl สีเทาเข้มวิบวับ นั่นก็นับว่าเป็นเบลเซอร์ได้เช่นกันใน definition ของการตัดเสื้อยุคใหม่ 

จริงอยู่ที่ในตำราเก่าๆ อาจกำหนดผ้าที่ใช้ทำเบลเซอร์ไว้ว่าต้องเป็น wool serge, flannel, hopsack ทำนองนั้น แต่ผมก็เคยเห็นคนตัดแจ็กเก็ต double-breasted ใช้ผ้า seersucker สีกรมท่าล้วนและติดกระดุมทอง ด้วย combination แบบนั้น มันกลับส่งอารมณ์ให้ผมรู้สึกถึงความเป็น seersucker blazer มากกว่า seersucker jacket ก็ทำไงได้ครับ มันชัดซะขนาดนั้น

ดังนั้น สิ่งที่แยกเบลเซอร์ออกจากแจ็กเก็ตจึงไม่ใช่แค่เนื้อผ้าและสีกระดุมเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ‘ความรู้สึก’ ที่มันส่งมาถึงคนใส่ ถึงคนรอบข้าง ถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวด้วย

The matter of the styling

และก่อนที่บทความนี้จะกลายเป็นการหมกหมุ่นกับ definition จนเกินไป สิ่งที่ผมอยากจะบอกสั้นๆ คือ ไม่ต้องไปจำแนกมันหรอกครับ แค่ทำความเข้าใจกับไอเดียของมันก็พอ การทำตัวเป็น nerd ในเรื่องนี้ ไม่มีประโยชน์ครับ โฟกัสกับการเอามันไปใส่ดีกว่า

Double-breasted Blazer จาก The Refinement Double-breasted Model 4 Made by Ring Jacket คือจุดเริ่มต้นที่ดีเลยครับหากคุณอยากเข้าใจ ‘ความอเนกประสงค์’ ในโลก sartorial มันมาพร้อมผ้า hopsack สีกรมท่าจาก Vitale Barberis Canonico และลูกเล่นสำคัญคือ option กระดุมที่มีให้เลือกเปลี่ยนเป็นกระดุมทอง หรือจะคงกระดุม horn ดั้งเดิมไว้ก็ได้เช่นกัน

ใส่มันออกจากบ้านแล้วคุณจะกลับมาพร้อมรอยยิ้ม (และรอยจูบ) บนใบหน้า

ใส่มันกับยีนส์ซีดๆ ขาดๆ ยื่นเท้าเปล่าเข้าโลเฟอร์กับหัวกระเซิงแบบยังไม่ตื่นดี แล้วพาตัวเองเดินไปจิบกาแฟในวันอาทิตย์สุดขี้เกียจ 

ถ้าคุณคือสิงห์อมควัน ลองใส่มันเข้าบาร์ จิบวิสกี้เคล้าควันบุหรี่อย่างระวังแต่อย่ากังวล (จนเกินไป) ว่าเถ้าบุหรี่จะร่วงมาเปื้อนเนื้อผ้าหรือไม่ ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นก็แค่ปัดมันและคิดซะว่า นั่นคือร่องรอยของการปล่อยตัวปล่อยใจที่อาจไหม้แต่โคตรมีความสุขเลย 

 ไปจนถึงใส่มันในวันทำบุญ คล้องแขนเจ้าสาวในวันวิวาห์ ให้ชุดนี้เป็นสักขีพยานต่อหน้าพระศาสดา ความรัก และประวัติศาสตร์การเดินเรือ

พูดง่ายๆ ใส่มันโดยไม่ต้องคิด แม้แต่กับขาสั้น แล้วคุณจะพบว่ามันคือเครื่องแต่งกายที่ versatile ที่สุดในตู้เสื้อผ้า

Blazer

Because it can be forwarded

ผมพูดเสมอครับว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ นี่คือไอเท็มชิ้นแรกที่ผมจะลงทุนกับมัน

และนี่คือหนึ่งในไอเท็มที่ผมจะเก็บไว้ หากถูกบังคับให้โละตู้เสื้อผ้า

ลงทุนกับเบลเซอร์ดีๆ (และรักษาหุ่นตัวเองให้ดี) แล้วมันจะอยู่กับคุณไปจนแก่ 

จนวันนึงเมื่อจากโลกนี้ไป ไม่ต้องถึงขั้นใส่มันลงโลงหรอกครับ แค่ส่งต่อมันให้กับคนที่คุณรัก

เมื่อเขาใส่มัน จะสัมผัสได้ถึงความรุ่มรวยของอารยธรรมจากโลกเก่า 

สัมผัสได้ว่ามันคือสักขีพยานในทุกเหตุการณ์สำคัญที่บรรพบุรุษส่งต่อมาให้เขา 

และสัมผัสได้ถึงความรักความห่วงใยจากเจ้าของเดิม 

เบลเซอร์คือเครื่องแต่งกายที่ว่า มันพิสูจน์โดยไร้ข้อกังขาว่าเสื้อผ้าที่เป็น timeless garment นั้นมีอยู่จริง

เรื่อง Korakot Unphanit

ภาพ Opal Suwannakeeta

Share


Shopping cart0
There are no products in the cart!
Continue shopping